การพัฒนาโครงการและการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050
ปัจจุบัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกกำลังเร่งดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อ้างอิงจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ในปี พ.ศ.2564 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส และไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อเทียบตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ทั่วโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ.2593 ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานต่างๆจึงจำเป็นต้องเร่งกำหนดมาตรการในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้
คาร์บอนเครดิต คืออะไร?
คาร์บอนเครดิต คือ สิทธิที่แสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตที่ถูกรับรองจากหน่วยงานที่ได้มาตรฐานสามารถซื้อขายในรูปแบบของคุณลักษณะด้านสิ่งแวดล้อม (environmental attributes) ได้ ในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq)
ตลาดคาร์บอนแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) และตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ซึ่งกลไกของตลาดคาร์บอนได้ถูกกำหนดโดยองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลระดับชาติเพื่อเป็นตลาดกลางในการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เช่น กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) ที่เกิดขึ้นภายใต้พิธีสารเกียวโต และกลไกเครดิตร่วม (Joint Crediting Mechanism) ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นต้น สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจที่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชน เช่น NPOs ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ | ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ | |
---|---|---|
ดำเนินการโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) | ดำเนินการโดยองค์กรระดับประเทศ / ภูมิภาค | ดำเนินการโดยองค์กรเอกชน |
Clean Development Mechanism (CDM) | Joint Crediting Mechanism หรือ JCM (ประเทศญี่ปุ่น), Klik (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) เป็นต้น | Verified Carbon Standard (VERRA, ประเทศสหรัฐอเมริกา) , The Gold Standard (สำนักงานเลขาธิการ The Gold Standard ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) เป็นต้น |
ความแตกต่างระหว่างคาร์บอนเครดิตกับใบรับรองพลังงานหมุนเวียน คือ ?
“ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน” (REC) เป็นระบบการรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยหน่วยพลังงานหมุนเวียนที่ถูกผลิตขึ้นสามารถซื้อ-ขายในรูปของใบรับรองพลังงานหมุนเวียนได้ พลังงานหมุนเวียนในที่นี้รวมถึง พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล
ในทางกลับกัน “คาร์บอนเครดิต” เป็นหน่วยหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากโครงการต่างๆ ซึ่งสามารถซื้อ-ขายได้เช่นกัน คาร์บอนเครดิตมีที่มาจากโครงการหลากหลายประเภท เช่น การปลูกป่าหรือการอนุรักษ์ป่า เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน และการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เป็นต้น
ความแตกต่าง | ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (I-REC) | คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) |
---|---|---|
หน่วย | คำนวณจากพลังงานไฟฟ้า :เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) | ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า:tCO2eq |
แหล่งที่มา | การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล | โครงการที่มีส่วนช่วยในการลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก |
เป้าหมาย | ใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 2 โดยการจัดหาใบรับรองที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน | ใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1, 2 และ 3 |
การอ้างสิทธิ์โดยผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต | พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ถูกผลิตจากพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ | การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับองค์กรหรือหน่วยงาน |
การตรวจสอบการพิสูจน์การดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานปกติ (additionality) ในขั้นตอนการขอรับรองเครดิต | ไม่มี | มี |
ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์สำหรับการใช้งาน | มีข้อจำกัด | ไม่มี |
ข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการใช้งาน (ปี) | มีข้อจำกัด | ไม่มีกำหนด |
โครงการคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจคืออะไร?
คาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจเป็นกลไกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยคาร์บอนเครดิตภาคสมัครเหล่านี้จะถูกรับรองโดยองค์กรเอกชนชั้นนำ เช่น NGOs และบริษัทชั้นนำต่างๆ ซึ่งจะแตกต่างจากระบบที่พัฒนาโดยองค์การสหประชาชาติหรือภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีการชดเชยคาร์บอนภาคสมัครใจโดยบริษัทชั้นนำต่างๆ เช่น โครงการ Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation (CORSIA) ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจที่ตรงกับมาตรฐานระดับโลก
โปรแกรมรับรองคาร์บอนเครดิต | องค์กรที่รับผิดชอบ | ชื่อหน่วยคาร์บอนเครดิต | รายละเอียด |
---|---|---|---|
Verified Carbon Standard (VCS) | Verra (USA) | Verified Carbon Unit (VCU) | เป็นโครงการภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในด้านการสร้างเครดิต และด้านปริมาณที่ซื้อ-ขาย โดยมีโครงการหลากหลายประเภทจากทั่วโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน |
The Gold Standard (GS) | The Gold Standard Secretariat (Switzerland) | Verified Emission Reduction (VER) | เป็นโครงการที่ก่อตั้งโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าสากลโลกและองค์การอื่นๆ ที่มุ่งเน้นการรับรองคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงจากโครงการที่ยั่งยืน |
American Carbon Registry | Winrock International (USA) | Emission Reduction Tonne (ERT) | ระบบการให้เครดิตระบบแรกของโลกทีก่อตั้งโดย Winrock International ในปี 2539 |
Climate Action Reserve (CAR) | Climate Action Reserve (USA) | Climate Reserve Tonne (CRT) | โปรแกรมที่ต่อยอดมาจาก California Climate Action Registry ซึ่งก่อตั้งโดยรัฐบาลแคลิฟอร์เนียในสหรัฐอเมริกาในปี 2544 โดยมีเป้าหมายเพื่ออเมริกาเหนือและเม็กซิโก |
Global Carbon Council (GCC) | Gulf Organization Research & Development (GORD, Qatar) | Approved Carbon Credits (ACC) | โครงการที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกกลาง ก่อตั้งขึ้นโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับ CORSIA |
ข้อกำหนดสำหรับคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพ
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ทาง Integrity Council for the Voluntary Carbon Market (ICVCM) ได้ออกมาตรการที่เรียกว่า Core Carbon Principles (CCPs) ซึ่งเป็นมาตรการมุ่งเน้นการประเมินคุณภาพของคาร์บอนเครดิต โดยมาตรการ 10 ข้อที่กำหนดโดย CCPs มีดังนี้
A) การกำกับดูแล
- การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ
- การติดตามตรวจสอบ
- ความโปร่งใส
- การตรวจสอบและการรับรองโดย Third-party อย่างเข้มงวด
B) ผลกระทบต่อการปล่อยมลพิษ
- การพิสูจน์การดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานปกติ (Additionality)
- ความคงทน (Permanence)
- การตรวจวัดปริมาณการลดและกำจัดการปล่อยมลพิษที่มีประสิทธิภาพ
- การหลีกเลี่ยงการนับซ้ำ (double counting)
C) การพัฒนาที่ยั่งยืน
- ประโยชน์และการป้องกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- การสนับสนุนที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net-Zero
ข้อมูลการให้บริการ
[การสร้างคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดคาร์บอน]
หากท่านมีคำถามเกี่ยวกับการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจจากโครงการที่มีส่วนช่วยในการลดคาร์บอน เช่น
- โครงการลดคาร์บอนของเรามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดสำหรับการลงทะเบียนหรือไม่ ?
- เราควรสมัครโปรแกรมใด ?
- ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (I-REC) หรือคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) อย่างไหนดีกว่ากัน ?
การลงทะเบียนและการรับรองคาร์บอนเครดิตเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มีหน่วยงานต่างๆที่ดูแลการทวนสอบคาร์บอนเครดิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากประเภทของโครงการลดคาร์บอนมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการโดยธรรมชาติ ทำให้ข้อกำหนดในการลงทะเบียนและการขอรับรองมีความแตกต่างกัน
ปัจจุบัน GBP กำลังพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจในต่างประเทศ หากคุณกำลังสนใจพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต โปรดติดต่อเรา
[การจัดหา การแลกเปลี่ยน และการใช้คาร์บอนเครดิต]
โปรดติดต่อเรา เพื่อขอคำปรึกษาและการประมาณการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา การแลกเปลี่ยน และการใช้คาร์บอนเครดิต