การจัดทำบัญชีคาร์บอน หรือบัญชีก๊าซเรือนกระจก (Carbon Accounting or GHG Accounting)

เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

องค์กรที่ตั้งเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) มุ่งสู่การเป็นธุรกิจที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) จำเป็นต้องมีการดำเนินการลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยการดำเนินการที่เหมาะสมนั้นจะเกิดขึ้นได้ เมื่อองค์กรมีการจัดทำบัญชีคาร์บอน ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูล การติดตาม และการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ซึ่งต้องสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ และมีความโปร่งใส แล้วจึงสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนและบริหารจัดการการดำเนินกิจกรรมต่อไป

การจัดทำบัญชีคาร์บอน (Carbon Accounting) มีขั้นตอนและขอบเขตการจัดทำที่ท้าทายทั้งในด้านของการจัดเก็บข้อมูลและการคำนวณ ก่อนอื่นต้องมีการกำหนดขอบเขตของการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Scope of GHGs Emissions) การกำหนดวิธีการเก็บข้อมูล การวัดและการคำนวณ จากนั้นจึงกำหนดมาตรการลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่องค์กรได้ตั้งไว้ โดยจะต้องมีการรายงาน ติดตาม ตรวจสอบรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรอย่างต่อเนื่อง

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint)

การประเมินหรือการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร และ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งหลักการในการประเมินและมาตรฐานที่ใช้เป็นข้อกำหนดในแต่ละประเภท โดยคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะถูกรายงานในหน่วย ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ton CO2 equivalent)

 


Carbon Footprint of Organizations

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร คือ ปริมาณการปล่อย รวมถึงการดูดกลับของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมการดำเนินการขององค์กร ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยสามารถดูข้อกำหนดในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกขององค์กรตามมาตรฐาน ISO 14064 หรือ GHG Protocol

ISO 14064 Greenhouse gases standard series
ISO 14064-1:2018 Greenhouse gases Part 1: ข้อกำหนด และแนวทางสำหรับการคำนวณและการรายงานการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
GHG Protocol
GHG Protocol Corporate Accounting and Reporting Standard: ข้อกำหนดและแนวทางสำหรับการจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
Corporate Value Chain (Scope 3) Accounting and Reporting Standard: ข้อกำหนดและแนวทางการประเมินและจัดทำรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมด

 


Carbon Footprint of Products

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากผลิตภัณฑ์หรือบริการตลอดวัฏจักชีวิต ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ จนถึงการจัดการของเสีย (ISO 14040) โดยสามารถดูข้อกำหนดในการประเมินตามมาตรฐาน ISO 14067

ISO 14067 Carbon footprint of products
ISO 14067:2018 Greenhouse gases Carbon footprint of products: ข้อกำหนดและแนวทางในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์
ISO 14040:2006 Environmental management life cycle assessment
Principles and framework: หลักการและกรอบแนวคิดในการประเมินวัฏจักชีวิตของผลิตภัณฑ์
ISO 14044:2006 Environmental management life cycle assessment
Requirements and guidelines: ข้อกำหนดและแนวทางในการประเมินวัฏจักชีวิตของผลิตภัณฑ์

 

เป้าหมายในการดำเนินงานด้าน Climate Change

สำหรับการจัดทำบัญชีคาร์บอนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการดำเนินการขององค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) นอกจากการจดบันทึกบัญชีจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานข้างต้นแล้วนั้น สำหรับการกำหนดเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวขององค์กร สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดและแนวทางตาม Science-Based Targets Initiative  (SBTi) เพื่อให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดคล้องกับการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือ ต่ำลงกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris agreement)

นอกจากนี้ยังมีมาตรฐาน ISO 14068-1:2023 Climate change management, Transition to net zero, Part 1: Carbon neutrality ซึ่งเป็นหลักการ ข้อกำหนดและแนวทางในการบรรลุและแสดงถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง และทำให้การอ้างสิทธิ์ขององค์กรมีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ