รู้จักกับมาตรฐานการประเมินสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ Environmental Site Assessment (ESA)

Environmental Site Assessment คืออะไร?

Environmental Site Assessment (ESA) หรือ การประเมินสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ คือกระบวนการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ดินหรือทรัพย์สิน เพื่อประเมินว่าพื้นที่มีการปนเปื้อนของสารอันตรายหรือมลพิษอยู่หรือไม่ โดยการจัดทำ ESA จะทำในขั้นตอนก่อนมีการตัดสินใจเชิงธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อหรือควบรวมกิจการ เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Environmental Due Diligence: EDD)

การประเมินสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ หรือ ESA จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงทางกฎหมายและการเงิน หากพบว่าพื้นที่มีการปนเปื้อน ภายหลังการซื้อขายหรือพัฒนา ผู้ถือครองอาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูให้เป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม


มาตรฐานการประเมินสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

โดยทั่วไป ESA จะดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินการตามขั้นตอนที่เป็นระบบและมีมาตรฐานอ้างอิง เช่น ASTM E1527 หรือ ISO 14015 โดยจะพิจารณาร่วมกับกฎหมาย แนวทางปฏิบัติเฉพาะของแต่ละพื้นที่


ASTM Standards – American Society for Testing and Materials

ส่วนใหญ่การจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้นจะอ้างอิงแนวปฏิบัติของ ASTM standards โดยมีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

    • ASTM E1527-21

Standard Practice for Environmental Site Assessments: Phase I Environmental Site Assessment Process

แนวปฏิบัติสำหรับการจัดทำ ESA Phase 1 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมจะทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเพื่อระบุประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม Recognized Environmental Conditions (RECs) ในบริเวณพื้นที่ที่ตรวจประเมิน

    • ASTM E1903-19

Standard Practice for Environmental Site Assessments: Phase II Environmental Site Assessment Process

แนวปฏิบัติสำหรับการจัดทำ ESA Phase 2 หากมีการระบุประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จากการประเมิน ESA Phase 1 ส่วนใหญ่จะมีการดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยการเก็บตัวอย่างดิน น้ำใต้ดิน ในบริเวณพื้นที่ที่มีความเสี่ยงนำไปวิเคราะห์เพื่อยืนยันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมนั้นๆ


ISO Standards  – International Organization for Standardization

    • ISO 14015:2022

Environmental management — Guidelines for environmental due diligence assessment

มาตรฐานสากลภายใต้ชุดมาตรฐาน ISO 14000 ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางการประเมินสถานภาพด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ ทรัพย์สิน หรือกิจกรรมต่าง ๆ โดยออกแบบมาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อม


กฎหมายและแนวทางปฏิบัติในประเทศไทย

    • กฎกระทรวง ควบคุมการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน พ.ศ. 2559

หากพื้นที่ที่ทำการประเมินมีความเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโรงงานตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง จะต้องมีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนด

    • ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพดินและน้ำใต้ดินที่สามารถใช้อ้างอิงเพื่อเปรียบเทียบกับผลการวิเคราะห์ในขั้นตอนของการทำ ESA Phase 2

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาพิจารณาควบคู่กันเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่ที่ทำการประเมิน