ช่วงที่เปิดรับฟังความคิดเห็น: 26 มีนาคม – 10 เมษายน พ.ศ. 2568
เนื้อหาสำคัญ:
ในวันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2568 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พ.ศ. ….
ประเทศไทยมีนโยบายที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตามมาตรา 72 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นทางเลือกที่สำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งยังอาจช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่มีราคาผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย ซึ่งในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 จึงได้มีมติส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop)
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งจะเป็นกฎหมายกลาง ทำให้ประชาชนที่ประสงค์จะติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้มาซึ่งใบอนุญาตตามกฎหมายนั้นๆ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน เป็นต้น กรณีเช่นนี้จึงส่งผลให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งยังก่อให้เกิดความล่าช้า และไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ประสงค์จะติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
สำหรับหลักการหรือประเด็นสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ
-
-
- บังคับใช้สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง
- กำหนดการติดตั้ง ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงไม่ต้องขออนุญาตขนานไฟกับหน่วยงานการไฟฟ้า
- การติดตั้งจะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนการติดตั้ง
- การตรวจสอบการติดตั้ง จะต้องแจ้งอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานทราบเพื่อสั่งการให้มีการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งเดียว และต้องแจ้งให้เจ้าของสถานที่ติดตั้งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน
- กำหนดให้ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในกิจการของสถานที่ติดตั้งเท่านั้น
- การจำหน่าย ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน หรือให้กระแสไฟฟ้าได้เฉพาะแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือองค์กรที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าไฟฟ้าที่เห็นชอบโดยรัฐมนตรี
- การจัดตั้งสถานรวบรวมซากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์หรือสถานกำจัดซากอุปกรณ์ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จะต้องยื่นขออนุญาตต่ออธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
- พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ติดตั้งเพื่อตรวจสอบการติดตั้งกรณีที่ทราบ หรือได้รับแจ้งว่าการติดตั้งไม่เป็นไปตามที่กำหนดหรืออาจก่อให้เกิดอันตราย
- ผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสามปีหรือปรับสูงสุดไม่เกินหนึ่งแสนบาทตามแต่กรณี
-
ดังนั้น หากท่านใดเป็นผู้เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ [Link]
ทั้งนี้ หากพบข้อสงสัยอื่นเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โทร. 02-223-0021 ถึง 29 หรือ email: saraban@dede.go.th