ช่วงที่เปิดรับฟังความคิดเห็น: 3 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ. 2568

เนื้อหาสำคัญ:

ในวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2568 กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. ….

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยเกิดปัญหาการสะสมของกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และซากรถยนต์จำนวนมาก อีกทั้งแนวโน้มการใช้แบตเตอรี่ก็เพิ่มมากขึ้นในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและอุปกรณ์แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้าของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดการจัดการกากอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และซากรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อการระงับเหตุ โดยมีกระบวนการจัดการรวบรวม คัดแยก และทำลาย จำต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพให้ทันสมัย รองรับเทคโนโลยีการผลิตที่มีความซับซ้อนให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและปกป้องการรั่วไหลของสารพิษลงสู่ชุมชนและแหล่งน้ำ รวมถึงการเยียวยาแก้ไขปัญหากรณีเกิดการรั่วไหลของสารพิษเป็นไปอย่างล่าช้าติดขัดในขั้นตอนของบประมาณ ทำให้ประชาชนต้องได้รับความเดือดร้อนจากการปนเปื้อนของสารพิษนานนับปี จึงต้องมีกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืนในการป้องกัน ปกป้อง เยียวยา สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย สุขภาพอนามัยของประชาชน และส่งเสริมผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นเศรษฐกิจยุคใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายในพระราชบัญญัติฉบับนี้จะประกอบไปด้วย

        • หมวด 1: การจัดการกากอุตสาหกรรม
            • ส่วนที่ 1: บททั่วไป
            • ส่วนที่ 2: การจัดการกากอุตสาหกรรมที่ก่อกำเนิดจากสถานประกอบการอุตสาหกรรม
            • ส่วนที่ 3: การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
            • ส่วนที่ 4: การจัดการซากรถยนต์
            • ส่วนที่ 5: การจัดการกากอุตสาหกรรมในเขตนิคมอุตสาหกรรม
            • ส่วนที่ 6: เบ็ดเตล็ด
        • หมวด 2: การเยียวยาความเสียหายเบื้องต้นและการประกันภัย
            • ส่วนที่ 1: การเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น
            • ส่วนที่ 2: การประกันภัย
        • หมวด 3: การกำกับดูแล
        • หมวด 4: หน้าที่ และความรับผิดทางแพ่ง
        • หมวด 5: นโยบายส่งเสริมการกำจัดกากอุตสาหกรรม
        • หมวด 6: กองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน
            • ส่วนที่ 1: การจัดตั้งกองทุน
            • ส่วนที่ 2: คณะกรรมการบริหารกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน
            • ส่วนที่ 3: สำนักงานกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน
            • ส่วนที่ 4: การช่วยเหลือ การส่งเสริม การสนับสนุน และการเพิกถอน
            • ส่วนที่ 5: การบัญชี การพัสดุและการตรวจสอบ
        • หมวด 7: บทกำหนดโทษ
        • บทเฉพาะกาล

ดังนั้น หากท่านใดเป็นผู้เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ เช่น ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ขนส่ง ผู้รวบรวม ผู้กำจัดกากอุตสาหกรรม ผู้ก่อกำเนิด ผู้ครอบครอง ผู้ใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้รวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ก่อกำเนิดซากรถยนต์ ผู้กำจัดซากรถยนต์ หรือประชาชนทั่วไป สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของ ร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ที่ [Link]

ทั้งนี้ หากพบข้อสงสัยอื่นเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ กองกฎหมาย กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 02-430-6304 ต่อ 1301 – 1306 หรือ email: lawdivision9.diw@gmail.com