หน้าแรก ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

1 June 2023

          เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศจากราชกิจจานุเบกษา เป็น “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566” พร้อมให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2566

          เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มี ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีวัตถุุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีการเก็บหรือการใช้สารเคมีอันตรายภายในโรงงานมีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานและจัดทำรายงานปริมาณสารเคมีของโรงงาน ที่มีปริมาณตั้งแต่หนึ่งตันต่อปีต่อสารเคมีอันตรายหนึ่งชนิด ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบปีละหนึ่งครั้ง

          โดยข้อแตกต่างของประกาศฉบับที่ 2 ที่ได้แก้ไขนั้น สามารถแสดงเป็นตารางได้ดังนี้

รายงานข้อมูลสารเคมีอันตรายที่มีการเก็บหรือการใช้ในการประกอบกิจการโรงงานฉบับ 1 (พ.ศ. 2565)ฉบับ 2 (พ.ศ. 2566)
ยื่นครั้งแรก
(ประเภทโรงงานตามบัญชีแนบท้ายประกาศ)
ภายในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2566ภายในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566
ยื่นครั้งแรก
(ประเภทโรงงานนอกเหนือจากบัญชีแนบท้ายประกาศ)
ภายในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566ภายในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2567
ยื่นครั้งถัดไป
(โรงงานทุกประเภท)
ภายในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปีภายในเดือนเมษายนของทุกปี

โดยรายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวนี้ สามารถศึกษาได้จากที่ Link นี้ครับ

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กระทรวงอุตสาหกรรม) โทร 02-430-6300

          เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศจากราชกิจจานุเบกษา คือ “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน” และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

          เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังลดความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประกอบกิจการโรงงาน จึงได้มีการปรับปรุง “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน” เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานสามารถชี้บ่งอันตราย ประเมิน และวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานยังมีการทบทวนกระบวนการงานเกี่ยวกับความปลอดภัย ให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลาที่ดำเนินกิจการ

          ซึ่งประกาศฉบับนี้ ได้ยกเลิกความในข้อ 1 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3 และปรับปรุงข้อมูลดังนี้ การยื่น “รายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน” ให้ยื่นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการยื่นรายงานฯ มีข้อกำหนดดังนี้

กรุงเทพมหานครนิคมอุตสาหกรรมจำนวนรายงานกรมโรงงานอุตสาหกรรมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ในพื้นที่นอกพื้นที่1 ฉบับ/
นอกพื้นที่นอกพื้นที่2 ฉบับ//
ในและนอกพื้นที่ในพื้นที่2 ฉบับ//
ตารางการยื่น “รายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน”

          โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จ ดังนี้

รายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานระยะเวลาการพิจารณา
ฉบับแรกภายใน 60 วัน**
ฉบับทบทวน*ภายใน 90 วัน**
ตารางระยะเวลาในการพิจารณาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

หมายเหตุ

*ยื่นทุกๆ 5 ปีนับถัดจากปีที่เริ่มประกอบการโรงงาน และยื่นรายงานไม่เกินเดือนสิงหาคมของปีที่ 5
**ไม่รวมถึงระยะเวลาที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูล/เอกสารตามคำสั่งของกรมโรงงาน

รายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวนี้ สามารถศึกษาได้จากที่ Link นี้ครับ

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กระทรวงอุตสาหกรรม) โทร 02-430-6300

          เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศจากราชกิจจานุเบกษา คือ “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ พ.ศ.2566” และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

          เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมได้เพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2559) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญของประเทศไทย จึงได้ออกประกาศไว้ดังนี้ “กำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จุดสิ้นสุดของแม่น้ำที่กิโลเมตร 0 ขึ้นไปทางตอนเหนือจนถึงจุดเริ่มต้นของแม่น้ำ ที่กิโลเมตร 384 เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ” โดยประกาศฉบับนี้ครอบคุลมพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

          ทั้งนี้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้เปิดเผยอีกว่า กำลังดำเนินการเตรียมยกเลิก “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการควบคุมปริมาณความสกปรกของน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2551” เพื่อป้องกันความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะคล้ายกัน

โดยรายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวนี้ สามารถศึกษาได้จากที่ Link นี้ครับ

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กระทรวงอุตสาหกรรม) โทร 02-430-6300

          เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีประกาศจากราชกิจจานุเบกษา คือ “คำสั่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ 42/2566 เรื่อง การจัดการกับวัตถุอันตรายกรดเปอร์ฟลูออโรออกตะโนอิค และเกลือของ กรดเปอร์ฟลูออโรออกตะโนอิค และสารประกอบที่เกี่ยวข้องของกรดเปอร์ฟลูออโรออกตะโนอิค” และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

          เนื่องจากในช่วงปลายปี 2565 ได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2565 ประกาศกำหนดให้กรดเปอร์ฟลูออโรออกตะโนอิค และเกลือของกรดเปอร์ฟลูออโรออกตะโนอิค (perfluorooctanoic acid (PFOA) and its salts) และสารประกอบที่เกี่ยวข้องของกรดเปอร์ฟลูออโรออกตะโนอิค (perfluorooctanoic acid (PFOA) – related compounds) จำนวน 8 รายการ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการผลิต นำเข้าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ได้แก่

  • ลำดับที่ 534 กรดเปอร์ฟลูออโรออกตะโนอิค (perfluorooctanoic acid)
  • ลำดับที่ 535 แอมโมเนียมเปอร์ฟลูออโรออกตะโนเอต (ammonium perfluorooctanoate)
  • ลำดับที่ 536 โซเดียมเปอร์ฟลูออโรออกตะโนเอต (sodium perfluorooctanoate)
  • ลำดับที่ 537 โพแทสเซียมเปอร์ฟลูออโรออกตะโนเอต (potassium perfluorooctanoate)
  • ลำดับที่ 538 ซิลเวอร์เปอร์ฟลูออโรออกตะโนเอต (silver perfluorooctanoate)
  • ลำดับที่ 539 เปอร์ฟลูออโรออกตะโนอิลฟลูออไรด์ (perfluorooctanoyl fluoride)
  • ลำดับที่ 540 เมทิลเปอร์ฟลูออโรออกตะโนเอต (methyl perfluorooctanoate)
  • ลำดับที่ 541 เอทิลเปอร์ฟลูออโรออกตะโนเอต (ethyl perfluorooctanoate)

          โดยผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้มีไว้ครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายดังกล่าว ต้องดำเนินการรายงานข้อมูลตามลำดับดังต่อไปนี้

ลำดับแบบฟอร์มชื่อแบบฟอร์มภายในวันที่
1วอ./อก. 33แบบรายงานปริมาณวัตถุอันตรายและแผนการทำลายวัตถุอันตรายในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม18 เมษายน 2566
2วอ./อก. 34แบบการส่งหลักฐานการทำลายวัตถุอันตราย19 มิถุนายน 2566

          

          ทั้งนี้ หากผู้ประกอบกิจการท่านใดไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว สามารถอุทธรณ์หรือโต้แย้งในรูปแบบหนังสือต่ออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ภายในสิบห้าวันนับถัดจากวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้เป็นต้นไป โดยส่งหนังสือได้ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เลขที่ 75/6 ถนนพระรามที่ 6 แขวทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

การไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รายละเอียดของประกาศฉบับดังกล่าวนี้ สามารถศึกษาได้จากที่ Link นี้ครับ

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) โทร 02-430-6308 ต่อ 1711

1031/13 ชั้นที่ 3 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ : 02-1207621
อีเมล : contact@gb-planet.com

  • โทรหาเรา
  • แช็ทกับเรา