(ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. ….

เมื่อวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 กรมควบคุมมลพิษเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พระราชบัญญัติการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน พ.ศ. ….

ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้บรรจุภัณฑ์ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นอย่างมากและอายุการใช้งานสั้นทำให้พบเห็นปะปนอยู่กับมูลฝอยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องกำจัด โดยปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 2,000 แห่ง ที่ไม่มีความสามารถให้บริการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยอย่างถูกต้อง ทำให้มีมูลฝอย รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วจำนวนมากตกค้างและหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม
บรรจุภัณฑ์บางชนิดถูกผลิตขึ้นจากวัสดุที่ย่อยสลายยาก ทำให้ยากต่อการย่อยสลายตามธรรมชาติ และจากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าในแต่ละปีมีบรรจุภัณฑ์หลายชนิดหลุดรอดออกไปสู่ท้องทะเลถึงกว่าปีละ 100,000 ตัน ทำให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยมลพิษสู่มหาสมุทร (Jambeck et al. (2015))
นอกจากนี้ การจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วที่ปะปนอยู่ไปกับมูลฝอยยังมีข้อจำกัดในแง่ของการนำทรัพยากรกลับมาแปรใช้ใหม่ บรรจุภัณฑ์หลายชนิดประกอบด้วยวัสดุหลายประเภทที่ถูกยึดติดกันทำให้ยากแก่การแปรใช้ใหม่ หรือมีการใช้เทคนิคการผลิต เช่น การพิมพ์สีไปบนเนื้อวัสดุโดยตรงที่ทำให้คุณภาพของวัสดุที่ได้จากการแปรใช้ใหม่ต่ำลง อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนจากการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้มาเป็นบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่มีราคาถูกกว่าและไม่เป็นที่ต้องการของธุรกิจรับซื้อของเก่า ส่งผลให้การจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วหลายชนิดกลายเป็นภาระต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องจัดสรรงบประมาณมากขึ้น เพื่อนำมาเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอย และยังต้องจัดสรรพื้นที่สำหรับการฝังกลบมูลฝอย ซึ่งบรรจุภัณฑ์บางประเภทใช้ระยะเวลาการกำจัดที่ยาวนานดังกล่าว จึงเป็นทั้งภาระด้านงบประมาณและด้านการบริหารจัดการเพื่อการกำจัดบรรจุภัณฑ์ จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น สามารถแบ่งได้เป็นแต่ละกรณี ดังนี้